top of page

กรมชลประทานเรียกเก็บค่าน้ำ ทำนา ไร่ละ 25 บาท/ปี

ปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎกระทรวงเพื่อเก็บค่าชลประทานจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำรายใหญ่ที่สุด ทำให้ทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานมีไม่เพียงพอในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ นอกจากนั้นในการบริหารจัดการกองทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานไม่สามารถจัดทำรายงานตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เนื่องจากต้องรอรวบรวมข้อมูลจากโครงการชลประทานทั่วประเทศ ประกอบกับไม่สามารถควบคุมระยะเวลาในการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้


ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการรับฟังความคิดเห็น ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการปรับปรุง พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2484 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 นั้น


ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายเดชา นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยว่า ไม่เห็นด้วย ที่จะมาเก็บค่าน้ำทำนา กล่าวคือ ทำนามากกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ ไร่ละ 25 บาท/ปี คำว่าทำนา มากกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่คืออะไร ไม่เข้าใจ ถามไปที่ประชุมก็ไม่เข้าใจ แล้วเพิ่งจะทราบวันนี้ ซึ่งเป็นเวทีสุดท้าย จากนั้นจะส่งเข้า ครม. เห็นชอบต่อไป


“โหดร้ายกับชาวนามาก ที่กำหนดให้ออกกฎกระทรวงเพื่อเรียกเก็บค่าน้ำชลประทานจากผู้ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทาน ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ใน หรือนอกเขตชลประทาน อย่างนี่เกษตรกรโดนทุกคน และที่ "อันตราย" ไปกว่านั้นก็คือ พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เอากฎหมายนี้มาพ่วงด้วย โดยกฎหมายนี้มุ่งเน้นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ซึ่งการชลประทานเป็นโครงข่ายกิจการที่สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ได้”


นายเดชา กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวนี้ ได้แจ้งไปที่สมาคมเป็นเรื่องที่ด่วนที่สุดที่จะให้มีการหารือช่วยดึงร่าง พ.ร.บฉบับนี้ก่อน หรือไม่เช่นนั้นก็ช่วยกันแก้ไขร่าง พ.รบ.ฉบับนี้ให้ได้ เพราะการคิดคำนวณแบบนี้นำมาสูตรมาคิดอย่างไร ผมถามเลยว่ากรมชลประทานจะทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำใช่หรือไม่ ผมถามในที่ประชุมว่ามีน้ำเกษตร น้ำอุปโภคบริโภค แล้วทำไมไม่มีน้ำใช้เพื่อการอุตสาหกรรม เชื่อว่าเกษตรกรทราบข่าวในเรื่องดังกล่าวไม่มีใครรับได้ แน่นอน


ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ

bottom of page