
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยในช่วง 4 เดือน(มกราคม-เมษายน) ว่ามีปริมาณ 2,291,916 ตัน มูลค่า 39,445.8 ล้านบาท และเนื่องจากในเดือนเมษายนที่ผ่านมา การส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งมีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนซึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาข้าวในประเทศเกือบทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาส่งออกปรับสูงขึ้นไปด้วยทำให้ผู้ซื้อบางส่วนชะลอการสั่งซื้อและรับมอบสินค้าโดยในเดือนเมษายนมีการส่งออกข้าวขาวปริมาณรวม 199,939 ตัน ลดลง 35% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
สำหรับตลาดส่งออกของไทย ยังคงเป็น อิรัก ญี่ปุ่น โมซัมบิก มาเลเซีย แองโกล่า เป็นต้น ขณะที่ข้าวนึ่งมีการส่งออกปริมาณ 94,572 ตัน ลดลง 18.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดหลักในแถบแอฟริกาและตะวันออกกลาง เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน ไนเจอร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว)กลับมีปริมาณเพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยมีปริมาณส่งออก 149,594 ตัน เนื่องจากมีการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดประจำ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ ก็ยังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สมาคมฯคาดว่าในเดือนพฤษภาคมการส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 600,000-650,000 ตัน เนื่องจาก ผู้ส่งออกยังมีสัญญาส่งมอบที่ค้างจากเดือนก่อนๆอยู่พอสมควรในขณะที่ตลาดหลักที่สำคัญในแถบตะวันออกกลาง เช่น อิรัก สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ตลาดเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น ตลาดแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ แองโกล่า โมซัมบิก รวมทั้งตลาดอเมริกา เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ยังคงมีความต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง
หลังจากที่สถานการณ์ด้านลอจิสติกส์และการส่งมอบมีทิศทางที่ดีขึ้นประกอบกับภาวะค่าเงินบาทยังคงอยู่ในทิศทางอ่อนค่าส่งผลให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ โดยราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 465 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ 465 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เวียดนามอยู่ที่ 423-427 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน อินเดีย อยู่ที่ 338-342 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถาน อยู่ที่ 373-377 ดอลลาร์สหรัฐสหรัฐฯต่อตัน ด้านราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 480 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของอินเดีย อยู่ที่ 348-352 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถานอยู่ที่ 392-396 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน