การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยว่า ในการกำหนดวงเงินกว่าหมื่นล้านบาท ในโครงการประกันรายได้ยางเฟส 3 หรือเป็นปีที่ 3 มีที่มาใช้การคำนวณราคาล่วงหน้ารายเดือน โดยใช้อัตราการเพิ่ม/ลด ของราคายางงวดเดือน ประกันรายได้เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2563 นำมาเป็นค่าเฉลี่ยในการคาดการณ์ราคาในแต่ละเดือนใน 3 ชนิดยาง ได้แก่ ยางแผ่นดิบ ยางก้อนถ้วย DRC 50% และน้ำยางสด นำมาคิดคาดการณ์ที่รัฐบาลจะชดเชยราคา
จะเห็นว่าเดือนพ.ย.นี้ คาดว่ารัฐบาลจะชดเชยราคาสูงสุดกว่า 2,302.21 ล้านบาท รองลงมาเป็นเดือน ต.ค. คาดชดเชยกว่า 1,878.93 ล้านบาท สาเหตุเป็นเพราะปกติใน 2 เดือนนี้ยางจะมีปริมาณออกมามากที่สุด เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทั้งชาวสวนยาง คนกรีดยาง กว่า 1.8 ล้านคน ระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (ตุลาคม 2564-มีนาคม 2565) จะเคาะประกันรายได้ครั้งแรกในเดือนตุลาคม แล้วจะจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้งวดแรกในเดือนพฤศจิกายน ผ่าน ธ.ก.ส. เข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง”
นอกจากนี้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ได้เห็นชอบขยายระยะเวลา 2 โครงการเดิมประกอบด้วย 1.เห็นชอบในหลักการโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการ ยาง (ยางแห้ง) เพื่อรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง วงเงินสินเชื่อ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีผู้ประกอบการสนใจยื่นความจำนงมา 14 ราย วงเงินกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้เป้าหมายของโครงการ ผู้ประกอบกิจการยางสามารถซื้อผลผลิตยางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ไม่น้อยกว่า 3.5 แสนตัน (คิดราคาเฉลี่ยปี 2564 (ยางแผ่นดิบราคา 57 บาทต่อ กก.) โครงการที่ 2 โครงการสนับสนุนสินเชื่อ เป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ จากเดิมให้สินเชื่อไปซื้อไม้ยาง ปรับเป็นให้คลอบคลุมสินเชื่อซื้อไม้ยาง และขยายกำลังการผลิต การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรโดยทั้ง 2 โครงการระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564-ธ.ค. 2565 ระยะเวลาในการชดเชยดอกเบี้ย ตามโครงการฯ 1 ปี นับตั้งแต่ได้รับอนุมัติ แต่ไม่เกิน 31 ธ.ค. 2565 กรอบวงเงินชดเชย ดอกเบี้ย 603 ล้านบาท
ด้านการยางแห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์ราคายาง ณ วันที่ 15 ก.ย. 2564 ราคายางในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่มีปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากทางตอนใต้ของประเทศไทยมีฝนตกชุกและขาดแคลนแรงงานกรีดยางประกอบกับราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นรวมถึงการที่กรมเจรจาการค้าฯเผยยอดส่งออกสินค้าเกษตร พบว่ายางพารามีการส่งออกช่วง 7 เดือนแรกขยายตัว 58%
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ