นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 โดยเพิ่มเติมเอกสารที่สามารถนำมาประกอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางได้ เพื่อขยายโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางมีเอกสารรับรองอื่นๆ เพิ่มเติม
อาทิ บัญชีเอกสารหลักฐานที่ดิน 2 ในส่วนของหนังสืออนุญาตการใช้ประโยชน์จากที่ดินรัฐของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น รวมทั้งมีการปรับปรุงแบบเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนต่างๆ ได้แก่ แบบคำขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (คบก.1) แบบคำขอขึ้นทะเบียนคนกรีดยาง (คบก.2) แบบหนังสือรับรองตนเอง (คบก.6) และแบบบันทึกค่าพิกัดแปลงสวนยาง (คบก.7) และแบบคำขอยกเลิกการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (คบก.8) กรณีเกษตรกรชาวสวนยางมีความประสงค์ขอยกเลิกการขึ้นทะเบียนประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยาง จํานวน 456,061 ราย พื้นที่สวนยาง 6,437,373 ไร่ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม
เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิ์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับทั้งการสนับสนุน การช่วยเหลือ และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ หรือสวัสดิการต่างๆ ผ่านกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) (4) (5) และ (6) ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่ต้องการดูแลเกษตรกรชาวสวนยางทั้งระบบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยจะไม่แยกบัตรเขียวและบัตรชมพูอีกต่อไป จึงขอให้ชาวสวนยางรอฟังประกาศอย่างเป็นทางการและศึกษารายละเอียด เพื่อเตรียมตัวติดต่อสำนักงาน กยท.จังหวัด/สาขาใกล้บ้านต่อไป
ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป็นไปตามคาดหมาย เพราะก่อนหน้านี้ได้เคยแจ้งไปกับผู้ว่าการฯ แล้วหากไม่ทำ ก็ไปเจอกันที่ศาลปกครองกลาง ต้องว่ากันในศาล เพราะเรื่องดังกล่าวนี้เป็นการต่อสู้รอคอยมา 6 ปีแล้ว ทั้งที่สิทธิชอบธรรมของชาวสวนยาง ทำไมเวลาขายไม่รับซื้อเป็นของโจร จะมาแบ่งแยกไม่ได้ อย่างไรก็ดีในกลุ่มดังกล่าวนี้จะส่งหนังสือเพื่อให้ กยท.เอากลุ่มนี้ส่งรายชื่อให้ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ได้รับสิทธิทันที
ต่อไปทางสมาคมก็จะเดินหน้าเพื่อช่วยประสานให้เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวเช่าที่ เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตในการประกอบอาชีพบนที่ดินอย่างถูกต้อง เมื่อถูกฎหมายต่อไป ประเทศไทยก็จะสามารถเข้าถึงมาตรฐานระบบการให้รับรองยางพารา Forest Management Certification (FSC-FM) จะเป็นประทับตราเครื่องหมาย FSC เป็นสัญลักษณ์หรือ ใบรับรองผลิตภัณฑ์ป่าไม้ที่ได้รับใบรับรองจัดการอย่างถูกต้อง ต่อไปประเทศไทยก็จะสามารถขายไม้ยาง และน้ำยางได้ทั่วโลกและมีราคาดี สร้างรายได้กับชาวสวนยางแบบยั่งยืน นี่ก้าวต่อไปที่สมาคมจะทำ ตลาดไม้ยางจะฟื้นอาจคืนกลับสู่เม็ดเงินแสนล้านอย่างในอดีตก็เป็นได้ ปัจจุบันตลาดไม้ยาง มูลค่าตลาดกว่า 6 หมื่นล้านบาท
ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ