top of page

ส่องงบประมาณ กระทรวงเกษตรฯ ปี66 ได้รับจัดสรรงบ 127,192 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%



นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วาระแรก ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2565 และได้มีมติรับหลักการพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วาระแรก วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท เรียบร้อยแล้วนั้น


สำหรับงบประมาณในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับจัดสรรงบประมาณ รวม 127,192.4577 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 16,289.8896 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15) เมื่อจำแนกประเภทของงบประมาณในแต่ละด้านตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวข้องรวม 4 ด้าน ประกอบด้วย


1.ด้านความมั่นคง จำนวน 277.2521 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านการประมง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) และพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

2.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 43,952.4636 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป เกษตรอัจริยะ และส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร เพื่อเสริมสร้างให้การพัฒนาภาคเกษตรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

3.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 2,079.0006 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในเรื่องส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการหลวงส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร และบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส

4. ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 80,883.7414 ล้านบาท เพื่อดำเนินการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งการบริหารจัดการพื้นที่ชลประทานเดิม การป้องกันระดับน้ำเค็ม การปฏิบัติการฝนหลวง จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และการลดการเผาในพื้นที่เกษตร


ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเน้นขับเคลื่อนภารกิจแผนงาน/โครงการให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี รายได้สุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ สินค้าเกษตรได้รับการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งทรัพยากรการเกษตรมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุงและฟื้นฟูให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน

bottom of page