top of page

เตือนเฝ้าระวัง !! คาดจะมีพายุเข้าไทย ช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค. 64 อาจเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์แนวโน้มพายุหมุนเขตร้อนที่คาดว่าในปีนี้จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย 2-3 ลูก ในช่วง เดือน ส.ค. – ก.ย. 64 และในช่วง เดือน ก.ย. - ต.ค. 64 อาจมีพายุเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยตอนบนอย่างน้อย 1 ลูก อาจทำให้มีฝนตกหนัก อาจเกิดอุทกภัยขึ้นได้ โดยทาง กอนช.ได้คาดการณ์ปริมาณฝนด้วยแผนที่ ONE MAP วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและขาดแคลนน้ำ หรือ ฝนทิ้งช่วง ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม - ธันวาคม เพื่อให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการเชิงป้องกันได้ตรงเป้าหมายและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ตรงจุดและทันสถานการณ์


สำหรับพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ กอนช.ได้กำหนดมาตการเตรียมการป้องกันผลกระทบน้ำท่วมไว้แล้ว โดยได้บูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องโดยเฉพาะจุดรอยต่อ และจุดเสี่ยงได้รับผลกระทบต่าง ๆ เพื่อทำงานเชิงป้องกันล่วงหน้ารองรับสถานการณ์ให้เป็นไปตามมติ ครม. เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย เนื่องจากระบบระบายน้ำสามารถรองรับฝนตกได้เพียง 100 - 120 มม.ต่อวัน หากฝนตกมากกว่านี้ จะเกิดน้ำนองท่วมขังไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ต้องเร่งสูบระบายน้ำ

และคาดปลายปีนี้ อาจเกิดปรากฏการณ์ลานีญา จะทำให้ฝนตกหนักรอบ 1,000 ปี เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่ประสบอุทกภัยหนักในขณะนี้ โดยเฉพาะหากตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครการเตรียมการรับมือของหน่วยงานมีความพร้อมอย่างไรนั้น กอนช. ได้รายงานการติดตามและประเมินสภาพภูมิอากาศร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ พบว่า สถานการณ์ภาพรวมช่วงฤดูฝน ปี 2564 สภาพอากาศมีลักษณะคล้ายคลึงกับปี 2551


ขณะที่การคาดการณ์ปรากฏการณ์ “ลานีญา” ปัจจุบัน กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ปรากฏการณ์ “เอนโซ” อยู่ในสภาวะปกติต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม จากนั้นมีโอกาสพัฒนาเป็นปรากฏการณ์ "ลานีญา” สภาวะอ่อนๆ ช่วงเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม ซึ่งมีผลให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้นบริเวณภาคใต้ และจากการคาดการณ์ฝน ONE MAP ช่วงเดือนสิงหาคม – ธันวาคม มีค่าฝนเฉลี่ยมากสุดในเดือนกันยายน ปริมาณ 260 มิลลิเมตร เท่านั้น ดังนั้น โอกาสที่ กทม.จะเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนัก รอบ 1,000 ปี หรือเกิน 350 มิลลิเมตรต่อวัน จึงมีความน่าจะเป็นน้อยมาก

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

bottom of page